วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สมุนไพรไทย







พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านเรา สรรพคุณและคุณค่าของสมุนไพรอันเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าภูมิปัญญาโบราณก็เริ่มถูกบดบังไปเรื่อยๆ และถูกทอดทิ้งไปในที่สุด ความจริงคนส่วนใหญ่ก็พอรู้ๆ กันว่า สมุนไพรไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้ได้อย่างกว้างขวาง แต่เป็นเพราะว่าเราใช้วิธีรักษาโรคแผนใหม่มานานมากจนวิชาแพทย์แผนโบราณที่มีสมุนไพรเป็นยาหลักถูกลืมจนต่อไม่ติด
ภาครัฐเริ่มกลับมาเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทยอีกครั้งด้วยการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ว่า " ให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม"
บทความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในคำนำของหนังสือ "สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด" ซึ่งเภสัชกรหญิงสุนทรี สิงหบุตรา เภสัชกรด้านเภสัชสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายวิชาการ กองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รวบรวมและเรียบเรียง ได้บันทึกไว้ ซึ่งต่อมาทางสำนักอนามัยฯ ได้นำหนังสือดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ประโยชน์ในงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ การนี้ ทางโครงการฯ เห็นว่าเนื้อหาในหนังสือมีคุณค่าและให้ประโยชน์กับผู้ที่ร่วมงานกับโครงการฯ รวมถึงบุคคลทั่วไป จึงได้นำขึ้นเผยแพร่ในเวบไซต์โครงการฯ จึงหวังว่าผู้ที่เข้ามาหาข้อมูลและได้อ่านเรื่องต่างๆ ในเวบไซต์นี้คงได้รับความรู้และอาจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองหรือบุคคลรอบข้างได้ไม่มากก็น้อย

สถานที่ท่องเที่ยว







ถนนมิตรภาพทอดตัวยาวสุดสายตา ในขณะที่พาหนะของเราพุ่งทะยานไปเบื้องหน้า เสียงเพลง ที่ดังออกมาจากลำโพงช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน หลังจากราคาน้ำมันลดความดุเดือด พุ่งพล่านลงมา ชีพจรการเดินทางก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ห้วงเวลาปลายฝนต้นหนาวเรานัดหมายกันออกเดินทางสู่ที่ราบสูงอีสานกันแบบแวะเที่ยวตามหัวเมือง สำคัญๆหลายเมือง

ของถิ่นอีสานบ้านเฮา







ยามฝนและหนาวมาเยือนอีสานนั้น ดูเสมือนว่านับเป็นห้วงเวลา ที่น่าเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูหนาว ทั้งตามชานบ้านชานเรือน และอุทยานแห่งชาติ หลายแห่ง เสน่ห์ของอีสานแท้จริงแล้วหลายคนบอกว่าอยู่ที่ผู้คนและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีมิติอันหลากหลาย
เราปักหมุดการเดินทางไว้ว่าจะเลาะเลียบจากกรุงเทพแวะไปเยือน เมืองสำคัญๆ ในอีสานใต้ และเมือง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เลาะไปจนถึงหนองคาย เป็นสุดปลายทางจากนั้นใช้เส้นทางมิตรภาพ หวนกลับมาสู่จุดตั้งต้น ของเรา โดยมุ่งเน้นสัมผัสศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน สามหมุดหมายหลักที่ผ่านทางไปพบนำมาเล่าสู่กันฟัง
บ้านคนเลี้ยงช้าง
เราอยากเก็บภาพช้างที่บ้านตากลาง แต่มิตรสหายชาวสุรินทร์ แนะนำว่าถึงสุรินทร์ควรแวะไปดู การทอผ้าไหมยกทองที่บ้านท่าสว่างด้วย หลายคนรู้จักสุรินทร์ในชื่อเสียงเรื่องช้าง หากแต่ที่อำเภอเมืองยังมีแหล่ง ผลิตผ้าไหมยกทอง ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ผ้าไหมยกทองที่ใช้ตัดเสื้อผู้นำเอเปกเมื่อครั้งที่จัดประชุมขึ้นที่เมืองไทย ผลิตขึ้นจากที่นี่ “บ้านท่าสว่าง” ความแตกต่างของผ้าไหมยกทองจากผ้าไหมอื่นๆ คือความละเอียดลวดลายอันวิจิตร และกระบวนการทอที่ซับซ้อนแบบโบราณดั้งเดิม
ผ้าไหมทอยกทองที่มีลวดลายแบบดั้งเดิมลวดลายซับซ้อน หนึ่งผืนต้องใช้คนทอสี่ถึงหกคนทีเดียว ความซับซ้อนของลวดลายผ้าไหมยกทองบ้านท่าสว่างนั้นทำให้ถูกเรียกว่าผ้าไหมยกทองหนึ่งพันสี่ร้อยยี่สิบตะกอ
ตะกอ คือ กลไกในการบังคับเส้นสายลวดลายอันวิจิตรให้เป็นไปตามลวดลายที่ถูกออกแบบนั่นเอง ลายยิ่งซับซ้อน ตะกอก็ยิ่งมาก นักท่องเที่ยวที่มาเยือนบ้านท่าสว่างจะได้ชื่นชมกับกระบวนการทอแบบโบราณ ที่กี่ทอผ้าต้องมีหลุม ให้เส้นไหมดิ่งลงด้านล่าง แต่ถ้าหากอยากจะซื้อผ้าไหมยกทองแบบดั้งเดิมราคาต่อผืนเป็นเงินหมื่นทีเดียว
การมาเยือนสุรินทร์คงไม่สมบูรณ์นัก หากเลยผ่านบ้านตากลางหมู่บ้านคนเลี้ยงช้างไป ทุกวันนี้ ที่บ้านตากลางได้จัดตั้งศูนย์คชศึกษาขึ้น มีการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับช้าง และชีวิตคนเลี้ยงช้างแห่งบ้าน ตากลางไว้อย่างสมบูรณ์แบบ มีการจัดแสดงโชว์ช้างวันละสองรอบทุกวัน โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียค่าเข้าชม แต่อย่างใด
ทุ่งโล่งกว้างใหญ่ มีสภาพเป็นทุ่งนาแซมสลับด้วยป่าละเมาะ หากมองจากที่สูงจะเห็นลำน้ำชีไหลมา บรรจบกับแม่น้ำมูล ใกล้ๆกันนั้นเป็นวังน้ำขนาดกว้างชาวบ้านเรียกกันว่าวังทะลุ เสียงคำรามของช้างพลาย ดังอยู่หลังแนวป่า ไม่นานนักเราก็เห็นตัวมันค่อยๆโผล่พ้นมาจากแนวป่า บนหลังมีควาญช้างลูกหลานชาวกวย บังคับมันให้ก้าวย่างมุ่งตรงไปยังแอ่งน้ำกว้างของวังทะลุ เสียงคำรามเบาๆ เสียงน้ำแตกกระจาย
เสียงภาษาถิ่นที่ควาญส่งเสียงพูดคุย ยามสัตว์ใหญ่รวมฝูงนั้น ยากยิ่งที่จะไม่อึกทึก ที่สุดของบ้านตากลางเห็นจะได้แก่การมีโอากาสได้ชมช้างรวมฝูงกันอาบน้ำ ในบริเวณที่ลำน้ำชี มาสบกับน้ำมูล การเห็นสัตว์ขนาดใหญ่อยู่รวมกัน ท่ามกลางธรรมชาติเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ
ชาวกวยมีวิชาความรู้เกี่ยวกับการจับช้างและบังคับช้างมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่มี การออกจับช้างกันแล้วก็ตามที หากแต่ลูกหลานชาวกวยก็ยังคงนิยมเลี้ยงช้างกันอยู่ เป็นความผูกพันที่ยากจะแยก ขาดจากกันได้
โขลงช้างทยอยลงไปในน้ำ ลำตัวสีฝุ่นที่ถูกเคลือบไว้ด้วยละอองดิน ถูกน้ำชะออกเผยให้เห็นสีผิว ที่แท้จริงของช้าง เป็นสีดำตัดกับแผ่นน้ำสีโคลนที่มีเปลวแดดเต้นระยิบอยู่อย่างเริงร่า ไม่ใช่ภาพที่จะหาดูได้ง่ายๆ ฝูงช้างสิบกว่าเชือกอารมณ์ดีอยู่ท่ามกลางความเย็นฉ่ำจากลำน้ำธรรมชาติ ที่ตำบลกระโพ แถบบ้านตากลาง บ้านโพน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวจะพบภาพความผูกพันระหว่างคนกับช้างที่เป็นธรรมชาติ
เลียบลำโขง กลับมาบนถนนอีกครั้งเรามุ่งไปบนทางลาดยางอย่างดี มีหลากหลายชุมชนที่น่าสนใจ ทุ่งข้าวสองข้างทาง เขียวขจีและจะเปลี่ยนเป็นสีทองเมื่อย่างเข้าสู่ธันวาคม อำเภอโขงเจียมของอุบลราชธานีคือหมายที่เรามุ่งไปสู่ ที่ซึ่งแม่มูลไหลมาสบ กับแม่โขง เย็นย่ำวันที่เราไปเยือนนั้นนับเป็นโอกาสดี ชาวประมงพื้นบ้านมารวมตัวกันจับปลา ในช่วงเวลาสำคัญของปี
เรือแจวลำเล็กเกือบยี่สิบลำลอยลำอยู่ทั่วบริเวณปากแม่น้ำ เสียงพูดคุยกังวานไปทั่วทั้งคุ้งน้ำ ท่ามกลางแสงยามเย็นที่อ่อนโยน อาจเรียกได้ว่าเป็นมหกรรมจับปลาก็ว่าได้ ไหว้วานเรือลำหนึ่ง ให้พาออกไปกลางแม่น้ำ เก็บภาพบรรดาชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังเก็บเกี่ยวขุมทรัพย์จากธรรมชาติอยู่
แน่นอนว่าเมื่อมาถึงโขงเจียม หากคุณพลาดเมนูปลาจากบรรดาร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมโขง คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบทานปลา
ยามเย็นย่ำที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำลงสู่แผ่นดิน แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียมงดงามยิ่งนัก เรามองดูสีสันที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปของแม่น้ำและบรรยากาศสองฝั่งประเทศ ฝนที่มากเป็นพิเศษของปีนี้ ดูท่าว่าจะโปรยสายลงมาในค่ำคืนนี้ ที่ปลายฟ้าเส้นสายฟ้าแปลบปลาบทำให้บรรยากาศพลบค่ำดูอัศจรรย์ยิ่งนัก
เช้าวันนั้นก่อนจากอุบลราชธานีเราแวะไปเยือนผาแต้ม มองดูทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง ที่ไหลล่อเลี้ยง ชีวิตผู้คนมากมาย จากจุดชมวิวบนลานหินสามารถมองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตา ใต้เผิงผายังปรากฏ ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์บนผนังหิน แสดงเรื่องราวชีวิตผู้คนที่อาศัยพึ่งพิงความสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง
ไหว้ธาตุพนม ชมสาวผู้ไท ถนนสายรองที่เลาะมาเลียบเคียงลำโขง เมื่อนับระยะทางโดยรวมแล้วไกลอยู่ไม่ใช่น้อย เป็นเส้นทาง ที่น่าขับรถอย่างยิ่ง สำหรับใครที่ชอบเดินทางแบบ Road Trip น่าจะเป็นการขับรถที่มีความสุข ออกจากโขงเจียม เลียบเลาะจนถึงมุกดาหาร
ซึ่งเป็นหัวเมืองที่เป็นประตูสู่ประเทศลาวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สอง ทอดตัวเชื่อมสองประเทศที่นี่ หากข้ามชายแดนที่นี่จะเข้าสู่แขวนสะวันนะเขตของลาว และสามารถขับรถต่อไปจนถึงเมืองดานังของเวียดนามได้ จากมุกดาหารถึงดานังระยะทางประมาณ 323 กิโลเมตร
ถนนเลียบโขงจากมุกดาหารไปนครพนมมีความงดงาม และมีสถานที่น่าสนใจให้แวะชมไม่น้อย ชุมชนริมฝั่งโขงเงียบสงบในช่วงที่ไกลออกมาจากจุดท่องเที่ยวหลัก ใช้เวลาไม่นานก็ถึงอำเภอธาตุพนม ซึ่งคือที่ตั้งของพระธาตุพนมเป็นที่เคารพของทั้งชาวไทยและลาว ท้องฟ้าสีเข้มจัดจ้าน ส่งให้สีขาวขององค์ธาตุพนม เจิดจ้าในแดดสว่าง
ทุกวันจะมีผู้คนหลั่งไหลมาชมความงามและสักการะพระบรมธาตุเพื่อความเป็นศิริมงคลของชีวิต หลังจากสัการะพระธาตุพนมแล้ว เดินทางอีกไม่ไกลก็จะถึงถิ่นสาวงามนามเรณูนคร “สาวผู้ไท” แห่งอำเภอเรณูนคร มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน ทั้งใบหน้าที่สวยและความอ่อนช้อยในศิลปะการแสดงประจำถิ่น “รำผู้ไท”
สิ่งที่ขึ้นชื่อของอำเภอเรณูนครคือเหล้าอุ รำผู้ไท และสาวผู้ไท หากมิได้มาในช่วงเทศกาล คงไม่อาจ ได้เห็นรำฟ้อนของสาวผู้ไท หากอยากชมการฟ้อนรำของสาวเมืองเรณูนครจริงๆ จะต้องมาเยี่ยมเยียน เมืองเรณูตามช่วงเทศกาลสำคัญๆ ต่าง เช่น งานนมัสการพระธาตุเรณู หรือชาวเรณูเรียกว่า งานบุญเดือนสี่ งานสงกรานต์ งานลอยกระทง แต่ถ้าเป็นงานที่มีบรรดาผู้สาวเรณูและการฟ้อนรำที่ครบถ้วนจริงๆ ต้องมาวันที่ 14 กุมพาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันผู้ไทยเรณู
ปลายทางที่หนองคาย เรายังคงใช้เส้นทางหมายเลข 212 เลาะเลียบลำโขงไปจนถึงปลายทางของเราคือหนองคาย แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำใหญ่ ยากที่จะอธิบายถึงพลังของแม่น้ำที่ส่งสะท้อนออกมาสู่เรา แต่ทุกคราที่ได้มีโอกาส มาอยู่ใกล้ชิดกัน เรามักจะสัมผัสได้ถึงพลังที่ส่งออกมาจากแม่น้ำสายนี้เสมอ
หนองคายวันนี้ยังคงเป็นจังหวัดที่น่ารักเฉกเช่นเดิม หากจำไม่ผิดหนังสือท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ฉบับหนึ่งจัดอันดับให้หนองคายเป็นหนึ่งในสิบเมืองน่าอยู่ของเอเซีย ตัวอำเภอเมืองหนองคายวางตัวขนานไปกับแม่น้ำโขง ตลาดริมแม่น้ำโขงในวันนี้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ทางราชการมีการจัดการอย่างดี ที่กั้นระหว่างตลิ่งสูงริมน้ำกับร้านอาหารคือทางเดินกว้าง ยามเย็นย่ำผู้คน
ออกมาเดินเล่นหาอาหารรับประทานมองดูวิวแม่น้ำ ทอดสายตาไปยังฝั่งเพื่อนบ้านที่วันนี้เติบโตขึ้นมาก สังเกตุได้จากความสว่างของแสงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าอาหารที่ขึ้นชื่อของหนองคายคืออาหารเวียดนาม ร้านแดงแหนมเนืองก็ยังคงมีผู้คนแวะมาลิ้มชิมรสและซื้อติดเป็นของฝาก
ในตัวอำเภอเมืองมีที่พักเล็กๆสำหรับนักเดินทางมากมายให้ได้เลือกพักราคาย่อมเยาว์ ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมื่อเดินเล่นในอำเภอเมืองหนองคายแล้วจะพบเห็นชาวต่างชาติมากมาย ร้านกาแฟน่านั่งหลายร้าน ด้วยเพราะ หนองคายเป็นประตูสำหรับการเดินทางข้ามไปท่องเที่ยวยังฝั่งลาว ที่นี่จึงมีทั้งนักท่องเที่ยวที่มารอเดินทางออก และเพิ่งเดินทางกลับเข้ามา
น่าเสียดายที่เราไม่สบโอกาสที่จะเลาะเลียบลำโขงต่อไปจนถึงเมืองเลย ซึ่งเส้นทางเลียบโขงจากหนองคาย สู่เลยนั้น นับได้ว่าเป็นช่วงที่งดงามที่สุดและมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะที่อำเภอสังคม อำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน
จากหนองคายกลับสู่กรุงเทพ สำหรับการขับรถไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย ทางหลวงหมายเลข 2 ทอดตัวจาก หนองคายยาวจนไปเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 1 ที่สระบุรีมุ่งตรงสู่กรุงเทพ
แน่นอนว่าการท่องเที่ยวแบบ Road Trip เราสามารถเลือกจุดหมายที่จะแวะได้ตามใจชอบ วิวสองข้างทาง ที่ใดถูกใจ เพียงหลบรถเข้าข้างทาง และหยุดชื่นชมอ้อยอิ่งโดยไม่มีกำหนดการมาเร่งรัด เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยว ด้วยรถยนต์อย่างแท้จริง ก่อนน้ำมันจะกลับมาขึ้นราคา ต้นปีนี้ในขณะที่อากาศยังหนาวเย็นอยู่ เส้นทางขับรถเที่ยว ในภาคอีสานนั้นสนุกสนาน และมีอะไรให้สัมผัสมากมายทีเดียว

อาหารไทย







อาหารไทยขึ้นชื่อได้ว่ามีประวัติมาช้านาน ผู้คนส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศต่างนิยมชมชอบในอาหารไทยกันมากมาย โดยเฉพาะชื่อเสียงในด้านความเข้มข้นและจัดจ้านของรสอาหารที่ติดปากติดใจผู้คนมานับศตวรรษ
โดยส่วนใหญ่อาหารไทยจะมีวิธีการประกอบอย่างง่ายๆ และ ใช้เวลาในการทำไม่มากนัก โดยเฉพาะทุกครัวเรือนของคนไทย จะมีส่วนประกอบอาหารติดอยู่ทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นพริก แห้ง กุ้งแห้ง น้ำปลา กะปิ ส้มมะขาม กระเทียม หัวหอม ตลอด จนปลาบ้าง รวมทั้งส่วนประกอบอาหารจำพวกผัก และเนื้อสัตว์ นานาชนิด เพราะมีวิธีนำมาประกอบที่มีด้วยกันหลายรูปแบบไม่ ว่าจะเป็น แกง ต้ม ผัด ยำ รวมทั้งอาหารไทยได้รับอิทธิพลใน การปรุงอาหารรวมทั้งรูปแบบในการรับประทานอาหารตั้งแต่ อดีต อาทิ การนำเครื่องเทศมาใช้ในการประกอบอาหารก็ได้รับ อิทธิพลมาจากเปอร์เชียผ่านอินเดีย หรืออาหารจำพวกผัดก็ได้ รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน เป็นต้น เมนูอาหารไทยที่ขึ้นชื่อลือ ชาหลายชนิดจึงประกอบไปด้วยอาหารมากมายกว่า 255 ชนิด
อาหารตามเทศกาลและพิธีต่างๆ
คนไทย นิยมจัดอาหารขึ้นเฉพาะอย่าง สำหรับพิธีการและเทศกาลต่างๆ จะพบหลักฐานได้จาก หนังสือวรรณคดีหลายเล่ม เช่น ขุนช้างขุนแผน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ เป็นต้น ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตในอดีตของคนไทย อาหารในพิธีต่างๆ เช่น พิธีแต่งงานจะจัดอาหารคาวหวาน ที่มีชื่อหรือลักษณะอาหาร ที่มีความหมายเป็นมงคล อาหารคาว ได้แก่ ขนมจีน วุ้นเส้น ส่วนขนมของหวาน

ได้แก่ ฝอยทอง ทองหยิบ ทองเอก ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู และขนมกง เป็นต้น
สำรับคาว มี แกงเผ็ดไก่หรือเนื้อ แกงหองหรือแกงบวน ต้มส้มสับปะรดหรือมังคุด อาจเติมขนมจีนน้ำยาด้วยก็ได้ สำรับเคื่องเคียง มี ไส้กรอก หมูแนม ยำยวนหรุ่ม พริกสด ปลาแห้งผัดสับปะรด หรือ แตงโม หมูย่างจิ้มน้ำพริกเผา หมูหวาน เมี่ยงหมู
สำรับหวาน มี ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมชั้น มะพร้าวแก้ว ขนมถ้วยชักหน้าสีอัญชัน ขนมเทียนใบตองสด ขนมถ้วยฟู ขนมหันตรา ลูกชุบชมพู่ มันสีม่วงกวน ข้าวเหนียวแก้วปั้นก้อนเมล็ดแตงติดหน้า วุ้นหวานทำเป็นผลมะปราง ขนมทองดำ ขนมลืมกลืนและลอยแก้วส้มซ่า
อาหารไทยแท้
คืออาหารที่คนไทยทำกันมาแต่โบราณ ส่วนมากเป็นแบบง่ายๆ เช่น ข้าวแช่ ต้มโคล้ง แกงป่า น้ำพริก และหลน เป็นต้น ส่วนขนมไทยแท้ก็ปรุงมาจากแป้ง น้ำตาล กะทิเป็นส่วนใหญ่ เช่น ขนมเปียกปูน ขนมเปียกอ่อน ตะโก้ ลอดช่อง เป็นต้น และถ้าใส่ไข่ ส่วนมากมักจะเป็นขนมไทย ที่รับมาจากชาติอื่น

อาหารไทยแปลง
คืออาหารไทยที่แต่งแปลงมาจากเทศ หรืออาหารไทยที่รับมาจากต่างประเทศ บางชนิดคนไทยคุ้นเคย จนไม่รู้สึกว่าเป็นของชาติอื่น เช่น แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น ที่จริงนั้นดัดแปลงมาจากของอินเดีย และแกงจืด ต้มจืดทั้งหลายก็ดัดแปลงมาจากอาหารจีน เป็นต้น ส่วนอาหารหวานหรือขนมหลายอย่าง ได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวยุโรปที่เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ทองโปร่ง ฝอยทอง และ สังขยาเป็นต้น